รางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี พ.ศ.2539
รางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปีนี้เป็นของ H.W. Kroto แห่งมหาวิทยาลัย Sussex ที่เมือง Brighton ในประเทศอังกฤษ และ R.F. Smalley กับ R.F. Curl แห่งมหาวิทยาลัย Rice ที่เมือง Houston ในสหรัฐอเมริกาจากผลงานค้นพบโมเลกุลของคาร์บอนรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะกลมคล้ายโดม geodesic ที่ Buckminster Fuller สถาปนิกชาวอเมริกันคิดสร้างจึงมีชื่อเป็นทางการว่า buckminsterfullerene หรือที่เรียกเล่นๆ ว่า buckyball
เมื่อ 10 ปีก่อนนี้นักเคมีทั่วไปคิดว่าไม่มีอะไรที่พวกเขาจะต้องรู้เกี่ยวกับคาร์บอนอีก เพราะทุกคนรู้ดีว่าคาร์บอนมีโครงสร้างสองรูปแบบคือ ในแบบแรกนั้นอะตอมของคาร์บอนจะเรียงรายเป็นแผ่นราบโดยอะตอมที่อยู่ในระนาบเดียวกันจะจับตัวเรียงกันเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านเท่าคาร์บอนที่มีโครงสร้างเช่นนี้ ได้แก่ กราไฟต์ที่เราใช้ทำดินสอ ส่วนคาร์บอนอีกรูปแบบหนึ่งมีอะตอมจับตัวกันเป็นรูปพีระมิดเพชร คือ คาร์บอนที่มีโครงสร้างรูปแบบหลังนี้
แต่ในเดือนกันยายนของปี พ.ศ. 2528 นั่นเอง Smalley, Curl และ Kroto ได้เริ่มวิจัยหาวิธีทำให้คาร์บอนมีโครงสร้างแบบไม่เป็นผลึกบ้าง
เดิม Kroto มีความสนใจศึกษาฝุ่นอวกาศ เขามีความคิดว่าในบรรยากาศเหนือดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังปลดปล่อยพลังงานนิวเคลียร์จะต้องมีโมเลกุลของคาร์บอนที่ประกอบด้วยอะตอมของคาร์บอนเรียงกันเป็นเส้นยาวอย่างแน่นอน เขามีความสนใจจะผลิตโมเลกุลของคาร์บอนที่มีโครงสร้างเช่นนี้ ในห้องทดลองบนโลก จึงได้ปรึกษาหารือกับ Curl และ Smalley ผู้มีอุปกรณ์พร้อมและเพียงพอที่จะทำให้ฝันของ Kroto เป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ทั้งสามจึงได้ร่วมมือกันสร้างอุปกรณ์สังเคราะห์โมเลกุลของคาร์บอนรูปแบบใหม่ทันที และในการฉายแสง เลเซอร์ไปตกกระทบแผ่นฟิล์มที่ทำด้วยคาร์บอน เขาได้พบว่า โมเลกุลของคาร์บอนบางตัวได้หลุดออกมาลอยเพ่นพ่านอยู่ในบรรยากาศของก๊าซเฉื่อย และโมเลกุลนี้ประกอบด้วยคาร์บอนถึง 60 อะตอมซึ่งเสถียรมาก และไม่มีท่าทีว่าจะทำปฏิกิริยากับโมเลกุลของสารอื่นใดเลย
การค้นพบนี้นำความประหลาดใจมาสู่นักวิจัยทั้งสามมาก และเมื่อ Smalley ได้ครุ่นคิดทบทวนเรื่องนี้เป็นเวลานาน เขาก็เห็นแสงธรรม เมื่อเขาประจักษ์ว่า C60 ที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องมีโครงสร้างเป็นรูปกลมปิดคล้ายลูกฟุตบอล โดยมีอะตอมของคาร์บอนเรียงรายที่ผิว “ฟุตบอล” นั้นได้จับตัวกันเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านเท่าบ้าง ห้าเหลี่ยมด้านเท่าบ้าง และมีภายในที่กลวง เมื่อ Smalley นำความคิดนี้ไปแสดงให้ Kroto และ Curl ดู เขาทั้งสามก็ได้พบว่าความคิดของ Smalley เป็นจริงงานวิจัยของนักเคมีทั้งสามได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ในเวลาต่อมาอีกไม่นาน
ในระยะแรกๆ นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ไม่เชื่อว่า buckyball จะมีในธรรมชาติ แต่เมื่อ D.Huffmann นักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัย Arizona ในสหรัฐอเมริกา และคณะได้ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์ buckyball ได้หนักเป็นกรัม วิทยาการด้าน fullerene ก็อุบัติและศาสตร์ด้าน fullerene ก็บูมตั้งแต่นั้นมา
เช่นนักวิทยาศาสตร์ได้พบวิธีที่จะเอาอะตอมของสารอื่นสอดแทรกเข้าไปในที่ว่างภายในของ C60 ได้พบวิธีที่จะนำอะตอมของสารอื่นมาโยงกับอะตอมของคาร์บอนที่ผิวของ C60 ทำให้เกิดสารประกอบ และวัสดุชนิดใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติด้านไฟฟ้า ความร้อน แสง และแม่เหล็กที่น่าสนใจ นักวิจัยบางคนสนใจในการทำ fullerene ให้เป็นตัวนำยิ่งยวด บางคนสนใจที่จะทำ fullerene ให้มีลักษณะเป็นท่อแทนที่จะกลมคล้ายลูกบอล ฯลฯ
จึงเป็นว่านักเคมีและนักฟิสิกส์ทั่วโลกกำลังรู้สึกสุขใจที่ได้ วิจัยสร้าง fullerene รูปแบบต่างๆ จากผลงานบุกเบิกของ Kroto , Smalley และ Curl ยกเว้น Eiji Osawa
เพราะในวันที่ Osawa ได้เห็นงานวิจัยของ Kroto และคณะปรากฏในวารสาร Nature นั้น เขารู้สึกอยากตาย
เมื่อ 15 ปีก่อนนี้ ขณะที่ Osawa ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย Kyoto ในประเทศญี่ปุ่น เขามีจินตนาการว่าโลกนี้น่าจะมีโมเลกุล C60 แต่ไม่มีนักวิชาการท่านใดสนใจงานคิดของเขาเลย เพราะเขาตีพิมพ์งานวิจัยของเขาเป็นภาษาญี่ปุ่นที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกคนใดอ่านออก นอกจากนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นด้วยกัน ดังนั้นเมื่อเขาเห็นความฝันของเขาถูกทำให้เป็นความจริง โดยนักวิจัยอื่นที่มีหลักฐานพร้อมเขาก็รู้ทันทีว่าเขาแห้วรางวัลโนเบลแล้ว
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า รู้อะไรต้องเผยแพร่ และตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ครับ